วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ประเพณีของชาวยิวในอิสราเอล






ณัฐพล  สอนจรูญ
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา




ชาวยิว (ภาษาฮีบรูว์: יהודים) นับเป็นกลุ่มชนชาติหนึ่งที่สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานตราบเท่าที่ประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติได้บันทึกไว้ ปัจจุบันนี้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวยิวยังคงดำรงอยู่ ณ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นบ่อเกิดของศาสนาสำคัญของโลก นั่นคือประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน

            จากตัวเลขประมาณการปี 2008 พบว่าชาวยิวในประเทศอิสราเอลมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75.5 หรือราว 5 ล้าน 5 แสนคน โดยมีเมืองศูนย์กลางคือกรุงเยรูซาเลม (Jerusalem) ทั้งนี้ ชาวยิวร้อยละ 82 นับถือศาสนายูดาห์ (Judaism) ร้อยละ 14 นับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี่ (Sunni) ร้อยละ 2 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่นๆ อีกร้อยละ 2[i] ชาวยิวมีความผูกพันกับศาสนามากโดยเฉพาะกับศาสนายูดาห์ ศาสนาจึงเป็นบ่อเกิดของประเพณีและวัฒนธรรมของตน

           
            ในช่วงชีวิตหนึ่งของชาวยิวนับตั้งแต่เกิดจนสิ้นลม ชาวยิวมีประเพณีทางศาสนาที่ผูกพันกับการดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ ครั้นเมื่อมีทารกชาวยิวเกิดใหม่ ในวันบริสุทธิ์สะบาโต (Sabbath) แรกหลังจากทารกถือกำเนิด บิดาของทารกจะต้องนำบุตรของตนเข้าโรงสวด (Synagogue) เพื่อท่องอาลียอ (aliyah) และขอพรให้แม่และเด็กมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ และหากทารกแรกเกิดเป็นเพศหญิงจะต้องตั้งชื่อให้กับทารกทันที หากเป็นเพศชายจะต้องตั้งชื่อในวันที่ 8 ภายหลังจากเด็กถือกำเนิดพร้อมๆ กับพิธีการขริบ (Circumcision)[ii] ในพิธีการตั้งชื่อของชาวยิวในอิสราเอลนั้นจะตั้งชื่อทั้งภาษาฮีบรูว์เพื่อใช้เรียกขานในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การท่องอาลียอ งานมงคลสมรส เป็นต้น และชื่อเรียกทั่วไปเพื่อบันทึกทะเบียนราษฎร์ ใช้ในงานราชการ เรียกขานในชีวิตประจำวันและการติดต่อทั่วไป



            เมื่อเด็กชาวยิวอายุเข้าสู่วัยแรกรุ่นจะต้องเข้าพิธีสู่สภาวะความเป็นผู้ใหญ่ โดยประเพณีของชาวยิวสำหรับเด็กชายและเด็กหญิงจะแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อเด็กชายอายุ 13 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้าพิธีบาร์ มิตซวาห์ (Bar mitsvah) จึงจะถือว่าเด็กหนุ่มได้กลายเป็นผู้ใหญ่ในสายตาของศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจอย่างผู้ใหญ่ได้ ปัจจุบันนี้พิธีการเข้าสู่สภาวะผู้ใหญ่ถูกจัดขึ้นให้แก่เด็กสาวด้วยเช่นกันโดยเด็กสาวจะเข้าพิธีบัต มิตซวาห์ (Bat Mitsvah) เมื่ออายุได้ 12 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้จะต้องยึดเอาปฏิทินยิวเป็นสำคัญในการนับอายุ นอกจากนี้ประเพณีเข้าสู่สภาวะความเป็นผู้ใหญ่ยังถือว่าเด็กชาย - หญิงชาวยิวได้ผ่านการขึ้นหนุ่ม-ขึ้นสาว (coming of age)[iii] และผ่านกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานอันพึงประสงค์ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมแก่การแต่งงานในอนาคตของชาวยิว



            ครั้นเมื่อหนุ่มสาวชาวยิวประสงค์จะแต่งงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตามระเบียบประเพณีของชาวยิวอย่างเคร่งครัดเนื่องจากชาวยิวถือเรื่องสถาบันครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบกับความเชื่อทางศาสนายูดาห์ว่าการอยู่เป็นโสดนั้นไม่สมควรพึงกระทำ ด้วยเหตุนี้สังคมชาวยิวจึงให้ความสำคัญกับการแต่งงานและสนับสนุนให้ชาวยิวแต่งงาน ยิ่งไปกว่านั้นชาวยิวผู้เคร่งครัด (Orthodox Jewish) ถือว่าพิธีแต่งงานเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามจารีตตั้งแต่การทำสัญญาก่อนแต่งงาน การหมั้น ไปจนถึงการจัดงานมงคลสมรส

            กล่าวคือเมื่อหนุ่มสาวประสงค์จะแต่งงานแล้ว จะต้องทำสัญญาก่อนแต่งงาน หรือ เคทุบาห์ (Ketubah: Marriage Contract) ก่อนวันสมรส ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายเพื่อย้ำเตือนถึงภาระผูกพันที่หนุ่มสาวจะต้องปฏิบัติต่อกันภายหลังแต่งงาน การจัดการทรัพย์สินมรดก รวมไปถึงภาระหน้าที่เลี้ยงดูบุตร และภาระหน้าที่ต่อบุตรเมื่อมีการหย่าร้างเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งงานซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ พิธีหมั้น หรือ ชิดดุคิน (Shiddukhin) และพิธีแต่งงาน หรือ นิสสุอิน (Nisuin) ซึ่งประเพณีแต่เดิมของชาวยิวระบุให้ต้องทิ้งช่วงห่างนาน 1 ปี ระหว่างพิธีหมั้นและพิธีแต่งงาน ทว่าปัจจุบันนี้มีชาวยิวจำนวนไม่น้อยที่รวบรัดเวลาโดยจัดพิธีหมั้นและงานแต่งงานติดต่อกันในวันเดียว[iv]

            ในขณะที่งานแต่งงานคือพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ชาวยิวมองการหย่าร้างว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดต่อครอบครัวชาวยิว เนื่องจากอิทธิพลความคิดจากศาสนาดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์โตราห์ (Torah) ระบุถึงผู้เผยพระวจนะมาลาคี (The prophet Malachi) ประกาศว่า ข้าพเจ้าเกลียดการหย่าร้าง”[v] การหย่าร้างของชาวยิวนั้นจะต้องกระทำโดยศาลเบ็ตดิน (Bet Din: House of Judgment) ซึ่งประกอบด้วยพระในศาสนายิว (Rabbi) ที่มีความรู้ด้านการแต่งงานและหย่าร้างจำนวน 3 องค์ เพื่อพิจารณาการหย่าร้างดังกล่าว ทั้งนี้แม้ว่าชาวยิวจะมองการหย่าร้างเป็นเสมือนสิ่งต้องห้าม ทว่าปัจจุบันการหย่าร้างสามารถทำได้ตามกฎหมายเมื่อปรากฏชัดว่าคู่สามี ภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้แก่กันไว้ในสัญญาก่อนแต่งงาน

            ชาวยิวมีบทบัญญัติสิบประการที่พระเจ้าทรงประทานให้กับโมเสสเพื่อนำมาเผยแผ่สู่ชาวยิว ณ ดินแดนสัญญา ประกอบด้วย[vi]
1) อย่านับถือพระเจ้าอื่น
2) อย่าบูชารูปเคารพ
3) อย่าออกพระนามพระยะโฮวาโดยไร้เหตุอันควร
4) จงทำงานให้เสร็จใน 6 วัน แต่วันที่ 7 นั้นอย่าทำงานใดๆ
5) จงนับถือบิดามารดาของตน
6) อย่าฆ่าคน
7) อย่าล่วงประเวณีชายหญิง
8) อย่าลักทรัพย์
9) อย่าเป็นพยานเท็จ
10) อย่าโลภเรือนของเพื่อนบ้าน อย่าโลภภริยาของเพื่อนบ้าน อย่าโลภทาสา ทาสี โคลา ของเขา อย่าโลภสิ่งใดๆ ที่เป็นของเพื่อนบ้าน ซึ่งบทบัญญัติสิบประการนี้มีอิทธิพลต่อชาวยิวในการทำกิจวัตรประจำวันและเป็น หลักปฏิบัติที่ชาวยิวถือว่าให้เกียรติซึ่งกันและกันในสังคม

            การให้เกียรติซึ่งกันและกันในสังคมชาวยิวนี้ยังมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งไม่เว้นแม้แต่การตาย กล่าวคือชาวยิวไม่ถือว่าความตายเป็นสิ่งน่ากลัวหรือน่าเวทนา   ในทางกลับกันชาวยิวมองความตายว่าคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่พระเจ้าได้สร้างขึ้นไว้ให้แล้ว ดังนั้น การแสดงความเสียใจหรือไว้ทุกข์ (Mourning) ในสังคมชาวยิวจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำเพื่อให้เกียรติคุณค่าของชีวิตมนุษย์ อีกนัยหนึ่งคือชาวยิวมิได้ปฏิเสธความตายแต่อย่างใด

            เมื่อมีใครเสียชีวิต บุคคลผู้นั้นจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากบุคคลรอบข้างทั้งในเรื่องพิธีกรรมและการปฏิบัติต่อศพผู้เสียชีวิต ภายใต้กฎเกณฑ์ปฏิบัติที่ถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เช่น กฎห้ามการแต่งศพหรือ   ผ่าตัดอวัยวะ เว้นแต่ว่าการผ่าตัดอวัยวะนั้นสามารถนำไปต่อชีวิตให้กับบุคคลอื่นได้และได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ชาวยิวยังมองว่าการละเลยไม่เฝ้าดูแลศพ หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหาร        ดื่มเครื่องดื่มใกล้กับศพนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะคือการเย้ยหยันผู้ตายที่ไม่อาจดื่มกินได้อีก[vii] ข้อปฏิบัติที่มีความละเอียดอ่อนนี้เองแสดงให้เห็นว่าชาวยิวยึดมั่นในคุณค่าของชีวิตและการให้เกียรติซึ่งกันและกันแม้แต่ผู้ที่เสียชีวิตแล้วก็ตาม

            ชาวยิวใช้ระบบปฏิทินจันทรคติ (Lunar Year) ในการกำหนดวันทำงาน วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญทางศาสนาของตน การใช้ปฏิทินแบบจันทรคตินี้มีความสอดคล้องกับคติทางศาสนา และทำให้การกำหนดวันเทศกาลของชาวยิวแตกต่างออกไปจากระบบสากล เช่น วันปีใหม่ของชาวยิว หรือ รอช ฮาชานา (Rosh Hashana) ที่กินเวลา 10 วันในปฏิทินยิวนั้น จะตรงกับปฏิทินสากลปี 2011 ในเวลาพระอาทิตย์ตกดินของวันที่ 28 กันยายน ไปจนถึงเวลาสุดท้ายของเทศกาล คือ วันยม คิปปูร์ (Yom Kippur) ในรุ่งสางของวันที่ 8 ตุลาคม[viii] ซึ่งช่วงระหว่าง 10 วันตามปฏิทินยิวนี้ชาวยิวจะเคร่งขรึม สวดมนต์ภาวนา และสำนึกบาปที่ได้ทำผิดไปแล้ว เนื่องจากชาวยิวเชื่อว่าระหว่างสิบวันนี้พระเจ้าได้เปิดหนังสือสามเล่มเพื่อบันทึกความดี - ความชั่วของมนุษย์ และพิพากษาตัดสินในวันยม คิปปูร์ หรือวันสุดท้ายของเทศกาล


            ชาวยิวเชื่อว่าการดำรงชีวิตด้วยการปฏิบัติตามเทวโองการที่พระเจ้าประทานผ่านโมเสสให้นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมชีวิตมนุษย์ให้อยู่ในความบริสุทธ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า และเป็นหนทางที่จะไปสู่สวรรค์เพื่อเข้าใกล้ชิดพระเจ้า ชาวยิวจึงรับหลักศีลธรรมทางศาสนาปรับใช้กับวิถีชีวิตประจำวันโดยมีหลักปฏิบัติครอบคลุมในหลายเรื่อง ได้แก่ การดำรงชีวิต อาหารการกิน การทำงาน ดนตรี ศิลปกรรมและวรรณกรรม การพักผ่อนและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

            ทันทีที่ตื่นนอน ชาวยิวจะเข้าพิธีล้างมือและสวด Ani Modeh เพื่อแสดงความขอบคุณพระเจ้าที่ทรงประทานชีวิตให้ในวันใหม่ (Restoring the soul)[ix] พร้อมกับการสวดมนต์ Shema Yisrael ระลึกถึงการมีเพียงหนึ่งเดียวของพระเจ้า การสวดมนต์ของชาวยิวนี้      ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำวันภายใต้กฎหมายยิว (Rabbinical Law) ที่ชาวยิวจะต้องสวดมนต์ที่เรียกว่าเบราก็อต (Berakhot) ต่อพระเจ้าในทุกๆ โอกาสและในชีวิตประจำวันทั่วไป

            ในหนึ่งสัปดาห์ ชาวยิวจะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติตามหน้าที่รับผิดชอบของตน ยกเว้นวันที่เจ็ด ของสัปดาห์ตามปฏิทินยิวที่เป็นวันชาบัท (Shabbat) โดยเริ่มจากหัวค่ำวันศุกร์จนถึงหลังพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์ ช่วงเวลานี้ชาวยิวถือว่าเป็นวันสักการะบูชาพระเจ้า ดังนั้นวันชาบัทจึงเป็นหยุดสุดสัปดาห์ตามศาสนายูดาห์ที่จะไม่มีการทำงานใดๆ ทั้งสิ้นแม้แต่งานเล็กน้อย เป็นเหตุผลหนึ่งที่อาหารเย็นวันศุกร์เป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุดในรอบสัปดาห์ของชาวยิว เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นวันชาบัทที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องสวดภาวนาและรับประทานอาหารพร้อมหน้ากันภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน



            ด้านอาหารการกินนั้น อาหารของชาวยิวผสมผสานมาจากหลากหลายแหล่งที่ชาวยิวได้เคยไปเยือนในครั้งอดีต อาทิ อาหารตะวันออกกลาง อาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารสเปน ฯลฯ ทั้งนี้ชาวยิวมีความพิถีพิถันในเรื่องอาหารการกินมาก โดยมีธรรมเนียมปฏิบัตินับตั้งแต่กรรมวิธีการปรุงอาหารต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ อาทิ ห้ามใช้ภาชนะปรุงอาหารระหว่างสัตว์ปีกและเนื้อวัวร่วมกัน มารยาทบนโต๊ะอาหารที่ทุกครั้งชาวยิวจะต้องสวดมนต์เพื่อขอบคุณพระเจ้าสำหรับมื้ออาหารทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร ไปจนถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับอาหารหรือ โคเชอร์ (Kosher) ซึ่งเป็นข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามบนโต๊ะอาหาร อาทิ ห้ามกินเนื้อสัตว์พร้อมกับนมเนยในอาหารมื้อเดียวกัน ห้ามกินหรือดื่มเลือดสัตว์ ห้ามกินสัตว์ที่ตายเอง ห้ามกินสัตว์ที่ไม่เคี้ยวเอื้องและไม่มีกีบเท้า เป็นต้น

            นอกเหนือจากอาหารการกินแล้ว ศิลปะและวัฒนธรรม (Arts and Culture) แขนงต่างๆ ของชาวยิวไม่เพียงเป็นเครื่องสุนทรีย์เท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อกลางระหว่างชาวยิวกับศาสนายูดาห์ด้วย ดนตรีของชาวยิวในประเทศอิสราเอลเป็นเครื่องประกอบหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนามาช้านาน ซึ่งมักพบในโรงสวด (Synagogue) และศาสนสถาน เพลงสวดนี้จะขับร้องโดยผู้ชายเท่านั้นเนื่องจากตามขนบประเพณีแบบดั้งเดิมมีกฎเกณฑ์ห้ามบุรุษฟังเสียงขับร้องของสตรี เนื้อร้องจะเกี่ยวข้องกับการสอนปรัชญา      คติธรรม และจารีตที่พึงปฏิบัติโดยรับเนื้อหาจากพระคัมภีร์และบทกวี      แม้กระนั้นการร้องรำทำเพลงทั่วๆ ไปของชาวยิวก็มีปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกัน โดยเป็นเพลงที่วิวัฒน์จากอู่อารยธรรมอิสราเอลเอง และได้รับผสมผสานกับอารยธรรมอื่น เช่น Mizrahi (อิสราเอลผสมกับอาหรับ)[x] และเพลงสากลร่วมสมัย สามารถพบได้ตามสถานที่สาธารณะ เช่น โรงมหรสพ (Concert Halls) ในอิสราเอล เป็นต้น

        

           
          วรรณกรรม (Literature) และศิลปกรรม (Arts) คืออีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวยิวมาเนิ่นนาน กิจวัตรประจำวันของชาวยิวอย่างน้อยที่สุดจะต้องเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมและศิลปกรรม        เนื่องจากวัฒนธรรมสองแขนงนี้ต่างทำหน้าที่รับใช้ศาสนายูดาห์เช่นเดียวกับดนตรีซึ่งถือเป็นแก่นสารการดำเนินชีวิต มิได้เป็นเพียงงานอดิเรกหรือเพียงเพื่อสุนทรียเพียงเท่านั้น เช่น       การอ่านและเผยแผ่พระคำภีร์โตราห์ (Torah) ด้วยภาษาฮีบรูว์ผ่านการเขียนวรรรกรรม บทกวี โคลงกลอน ในขณะที่งานศิลปกรรมของชาวยิวยุคแรกๆ ในอิสราเอลจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนวัตถุ ศาสนพิธี และศาสนประวัติ[xi] แม้กระนั้น วัฒนธรรมทั้งด้านดนตรี วรรณกรรม และศิลปกรรมของชาวยิวในปัจจุบันต่างได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมสากลเข้ามาปรับใช้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ก็ยังคงมีวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เห็นอยู่ทั้งในประเทศอิสราเอลและภูมิภาคอื่นๆ โดยรอบ สำหรับผู้สนใจวัฒนธรรมของชาวยิวในอิสราเอลแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Fiddler on the Roof คือสื่อกลางที่สามารถถ่ายทอดประเพณีและจารีตของชาวยิวได้เป็นอย่างดี

       

   ชาวยิวจะแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าตลอดช่วงชีวิตของตน นับตั้งแต่ย่ำเช้าจนถึงย่ำค่ำ ก่อนเข้านอนทุกครั้ง ชาวยิวจะต้อง     สวดมนต์ Ha – Mapil เพื่อขอให้พระเจ้าอำนวยพรให้หลับอย่างเป็นสุข (peaceful sleep) และตามด้วยการสวดมนต์ Shema Yisrael ระลึกถึงการมีเพียงหนึ่งเดียวของพระเจ้าเช่นเดียวกับการตื่นนอน และเชื่อได้ว่าแม้ชาวยิวจะหลับไหลในราตรีกาลแล้ว แต่ทุกๆ ลมหายใจเข้าออกของชาวยิวนั้นจะเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาแด่พระเจ้าอย่างไม่มีวันจางหายไป

ที่มา http://sameaf.mfa.go.th

ไม่มีความคิดเห็น: